การศึกษามอนเตสซอรี่
 Montessori Education

 

          การศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ คิดค้นขึ้นโดย พญ.มาเรีย มอนเตสซอรี่ ชาวอิตาเลี่ยน โดยเริ่มแรกนั้นพญ.มาเรีย  มอนเตสซอรี่ได้ออกแบบและคิดค้นวิธีการและสื่อการเรียนเพื่อช่วยเด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกายและสมอง รวมทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้แล้ว ให้กลับมาเรียนรู้จนสามารถสอบผ่านได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป จากนั้นจึงนำวิธีการนี้มาใช้กับเด็กปกติ ซึ่งได้ผลดีอย่างมากเช่นกัน
 
          มอนเตสซอรี่เชื่อว่า การที่จะช่วยให้มนุษย์มีความสุขทั้งกายและใจ อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข มีความเมตตากรุณาต่อกันนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นที่การศึกษา ดังนั้นจุดหมายสูงสุดของการศึกษามอนเตสซอรี่คือการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของมนุษย์ทุกคนบนโลกหรือสันติภาพของโลกนั่นเอง
 
          นับถึงปัจจุบันการศึกษามอนเตสซอรี่มีอายุถึง 100 ปีแล้ว โรงเรียนที่ใช้การศึกษาแบบมอนเตสซอรี่นั้นมีแพร่หลายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะมอนเตสซอรี่เป็นการศึกษาที่ใช้หลักการและวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เด็กได้มีพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพอย่างแท้จริง และในปัจจุบันนี้ยังได้มีผลงานวิจัยด้านการเรียนรู้ต่างๆ ที่เป็นหลักฐานสนับสนุนมอนเตสซอรี่ได้เป็นอย่างดีอีกเช่นกัน

 

หลักการและแนวคิดที่ใช้ในการจัดการศึกษามอนเตสซอรี่

           ด้วยการศึกษามอนเตสซอรี่เป็นการศึกษาที่มีแนวคิดและหลักการอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในความเป็นเด็ก ซึ่งมอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็ก นั้นมีความแตกต่าง เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก แต่เป็นวัยหนึ่งของมนุษย์ที่แตกต่างจากวัยอื่นๆ ดังนั้นในการเลี้ยงดู รวมถึงการให้การศึกษาแก่เด็กนั้น จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง

 

1. พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย  มอนเตสซอรี่จัดการศึกษาจากความเข้าใจในพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของเด็ก เพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
          ·    พัฒนาการเด็กวัย 0-6 ปี เป็นวัยที่เกิดการเรียนรู้แบบไม่รู้ตัว โดยจิตไร้สำนึกที่มีความสามารถในการซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งแวดล้อมผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า (Absorbent Mind) ยกตัวอย่างเช่น การเรียนภาษาพูด ที่เด็กทารกเริ่มจากการได้ยินเสียงพูดตั้งแต่แรกเกิด และในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการพูดเป็นลำดับ จนสามารถเริ่มออกเสียงได้ จากเสียงสั้นๆ ไม่มีความหมาย จนเป็นคำสั้นๆ ที่มีความหมาย และเป็นประโยคในที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่มีการพัฒนาระบบกล้ามเนื้อและการรับรู้ของประสาทสัมผัส เป็นวัยที่อยากรู้จักทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว มักมีคำถามว่า “นี่อะไร”

          ·    พัฒนาการเด็กวัย 6-12 ปี เป็นวัยที่เริ่มมีเหตุผล มีจินตนาการ เข้าใจสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม ต้องการเข้าสังคม เรียนรู้และยอมรับในกฎกติกา รวมถึงศีลธรรมอันดี เป็นวัยที่ต้องการรู้ถึงสาเหตุของความเป็นไปของสิ่งต่างๆ จึงมักจะถามคำถามว่า “ทำไม” เป็นส่วนใหญ่

2. สิ่งแวดล้อม โดยการจัดสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความสนใจอยากรู้ของเด็ก ห้องเรียนและสื่อถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบและสวยงาม สื่อการเรียนการสอนถูกออกแบบให้เริ่มเรียนอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ก่อนและจึงค่อยๆพัฒนาไปสู่การเรียนรู้เชิงสัญลักษณ์ (นามธรรม) ตามลำดับ และเรียงลำดับจากง่ายไปซับซ้อนและท้าทายขึ้น

3. อิสรภาพภายในขอบเขต มอนเตสซอรี่เชื่อว่าการที่เด็กสามารถพัฒนาจนมีความเป็นตัวของตัวเอง (Independence) ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นได้นั้น จะทำให้เขาเห็นถึงคุณค่าของตนเอง มีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับตนเองและสังคมได้  การจะให้เด็กได้ความเป็นตัวของตัวเองนี้ จำเป็นจะต้องให้อิสรภาพกับเด็ก ทั้งอิสระในการเคลื่อนไหว อิสระในการเลือกสิ่งที่จะทำ อิสระในการคิด ในการพูด ทั้งนี้อิสรภาพนี้จะต้องอยู่ภายในกรอบอันเหมาะสม เป็นอิสระที่มาคู่กับความรับผิดชอบ ไม่ใช่อิสระในการกระทำหรือแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำลายสิ่งของ การรบกวนหรือทำร้ายผู้อื่น
 
4. การเคลื่อนไหว มอนเตสซอรี่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ “มือ” จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ในงานวิจัยด้านการเรียนรู้ของสมองในปัจจุบัน ได้สรุปแล้วว่าการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะการใช้มือนั้น สามารถเพิ่มข่ายใยในสมอง ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ได้ จากแนวคิดนี้การเรียนรู้ผ่านการทำงานของมือ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษามอนเตสซอรี่
 
5. เรียนรู้อย่างมีความหมาย เด็กจะได้เรียนรู้วิชาการต่างๆ แบบบูรณาการ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันของศาสตร์ต่างๆ และให้เข้าใจว่าศาสตร์ต่างๆ เหล่านั้น แท้จริงแล้วคือทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์นั่นเอง เช่นเรียนภาษาเพราะภาษาใช้ในการสื่อสาร เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อให้เข้าใจในธรรมชาติที่เราอยู่  เรียนภูมิศาสตร์เพื่อให้เข้าใจลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับลักษณะนั้นๆ  เรียนประวัติศาสตร์ เพื่อให้รู้ถึงที่มาของผู้คนและสิ่งต่างๆ

         6. เรียนรู้แบบร่วมมือกัน มอนเตสซอรี่เชื่อว่ามนุษย์เริ่มมีความสนใจและพัฒนา  ทักษะด้านสังคมของตนเองได้ตั้งแต่เด็ก การจัดห้องเรียนและสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้อยู่  ร่วมกันคละวัยแบบมอนเตสซอรี่เป็นการเลียบแบบสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงที่อยู่ท่าม    กลางผู้คนที่ต่างวัย กัน ซึ่งมอนเตสซอรี่สังเกตเห็นว่าโดยธรรมชาติแล้วเด็กชอบช่วย  เหลือกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นอยู่แล้ว นอกจากนี้การช่วย  เหลือกันสามารถเกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ เกิดการเรียน  รู้ที่หลากหลายและการที่ได้เรียนรู้จากคนในวัยใกล้เคียงกันจะเกิดการเรียนรู้ที่ดีกว่า

7. ความรักและเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ สุดท้ายแล้วหลักการและวิธีการต่างๆ จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับบรรยากาศที่อบอุ่น ที่เกิดจากความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ของผู้ใหญ่ ซึ่งในโรงเรียนนั้นก็หมายถึงครูนั่นเอง 

มอนเตสซอรี่กับพัฒนาการและความฉลาดด้านต่างๆ

ด้านสติปัญญา  IQ (Intelligence Quotient)
          ในระดับเด็กเล็กวัยก่อน 6 ปี มอนเตสซอรี่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายและทักษะการรับรู้ประสาทสัมผัสที่ดี มีผลโดยตรงกับการเรียนรู้ ดังนั้น ในวัยนี้การเรียนการสอนจึงใช้สื่อที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้และเป็นสื่อที่พัฒนาประสาทสัมผัสทั้งห้า ให้เด็กได้ใช้มือทำงานกับสื่อ เพราะการเคลื่อนไหวของมือทำให้เกิดการทำงานที่เพิ่มขึ้นของสมองซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ ความฉลาด และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
 
          ในระดับประถมนั้น เด็กจะเริ่มมีความเข้าใจนามธรรมมากขึ้น รวมทั้งมีเหตุมีผล และมีจินตนาการกว้างไกล นอกจากการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว  วิธีการเรียนยังเน้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงมากกว่าการเรียนจากกระดาษหรือหนังสือ ฝึกให้คิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาวิชาการที่เด็กได้เรียนจะมีความเชื่อมโยงกันในทุกวิชา ยกตัวอย่าง เช่น ในระดับประถมในหัวข้อเรื่อง “แม่น้ำ” นอกจากจะเรียนในเนื้อหาวิชาภูมิศาสตร์แล้ว ก็จะเรียนเรื่องแรงลอยตัว เรื่องสารละลายของวิชาวิทยาศาสตร์ คำนวณระยะทางและความเร็วในน้ำในวิชาคณิตศาสตร์ เรียนรู้วัฒนธรรมตามลุ่มแม่น้ำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการเรียนแบบเห็นความเชื่อมโยงของทุกเนื้อหาวิชานั้น ได้รับการยอมรับจากนักการศึกษาปัจจุบันว่าเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด การที่เด็กได้เห็นภาพรวมของทั้งหมด เป็นการฝึกทักษะการมองและคิดอย่างเป็นระบบอีกเช่นกัน

ด้านร่างกาย  Physical Intelligence
          กิจกรรมในการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่เกือบทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบกล้ามเนื้อ ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ
 
ด้านจิตใจและอารมณ์  Emotional Intelligence                                                                            
          สิ่งที่มอนเตสซอรี่ค้นพบจากการที่เด็กทำงานกับสื่ออย่างจดจ่อคือ การเกิด สมาธิ สมาธิในการทำงานจะพัฒนาไปสู่สภาวะที่เด็กมีความสงบนิ่ง เกิดความสุขุม อ่อนโยน สามารถลบล้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ และรักในระเบียบวินัยขึ้นมาได้

          มอนเตสซอรี่เรียกสภาวะนี้ของเด็กว่า Normalization หรือภาวะปกติ                                            
                
          ดังนั้น จุดประสงค์หลักของมอนเตสซอรี่ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี คือการนำเด็กเข้าสู่สภาวะปกตินี้ เพราะในภาวะที่เด็กสงบ มีสมาธิ จะเกิดการเรียนรู้ เป็นสมาธิที่ก่อเกิดปัญญา แสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่เหมาะสม เกิดวินัยในตนเอง ทำให้ห้องเรียนมอนเตสซอรี่ที่ถึงแม้จะมีเด็กจำนวนมาก แต่เป็นห้องเรียนที่สงบ เด็กๆ จะสามารถช่วยกันดูแลห้องเรียนและเพื่อนๆ ด้วยกันเองได้ ทำให้การจัดการชั้นเรียนของครูเป็นเรื่องง่าย และครูสามารถใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการให้บทเรียนกับเด็กเป็นรายบุคคลได้นอกจากเด็กจะได้ทำงานกับสื่อเพื่อให้เกิดสมาธิแล้ว  ครูมอนเตสซอรี่ยังให้ความรัก ความอบอุ่น  แสดงออกซึ่งความเคารพในตัวตนของเด็ก ให้คำแนะนำแก่เด็กๆ ถึงวิธีการแสดงความเคารพ การสื่อสารกับผู้อื่น  และการแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดวุฒิภาวะทางอารมณ์ และสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
 
ด้านสังคม  Social Intelligence
          การจัดห้องเรียนแบบมอนเตสซอรี่จะมีเด็กคละวัย 3 ปี เช่น ระดับอนุบาล มีเด็กอายุ 3 – 6 ปี เรียนร่วมกัน ซึ่งจะเหมือนกับสังคมในความเป็นจริงที่มีคนต่างวัยกันอยู่ด้วยกัน เหมือนเป็นครอบครัว กิจกรรมในห้องเรียนส่งเสริมให้มีการร่วมมือกันทำงาน พี่สอนน้อง น้องช่วยพี่ มีความเอื้อเฟื้อกัน สร้างทักษะทางสังคม
 
ด้านจริยธรรม  Moral Intelligence
          มอนเตสซอรี่เชื่อว่าเด็กนั้นเกิดมาพร้อมกับคุณธรรมความดีอยู่ในตนเองแล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้แสดงออกซึ่งความดีข้างในนั้น  ในวัยก่อน 6 ปีผู้ใหญ่สามารถสอนให้เด็กกระทำความดีที่เป็นรูปธรรมได้ เช่น การไหว้ผู้ใหญ่ การกราบพระ การช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปัน การขอบคุณ การเก็บของคืนเจ้าของ การช่วยรักษาความสะอาด เป็นการซึมซับการทำความดี และถึงแม้เด็กจะกระทำเองโดยอาจจะยังไม่เข้าใจในความหมายมากนัก แต่เมื่อเข้าสู่วัย 6-12 ปี แล้วเด็กจะสามารถที่จะเข้าใจความหมายในสิ่งที่ตนกระทำ รู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว และเริ่มถามหาความยุติธรรม ทั้งนี้เพราะเป็นวัยที่ต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม
 
ด้านจิตวิญญาณ Spiritual Intelligence   
           ในที่นี้หมายถึง การรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าของตน เข้าใจในความหมายของชีวิต เข้าใจคุณค่าความเป็นมนุษย์ ค้นหาว่าอะไรคือจุดหมายของชีวิตของตน รวมถึงเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นและสิ่งอื่นๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
           วิธีการมอนเตสซอรี่นั้นส่งเสริมให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง (Independence) ซึ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเอง หลักสูตรมอนเตสซอรี่มีเนื้อหาทีโยงจากภาพรวมใหญ่ (Big Picture) ไปหารายละเอียดย่อย ทำให้เห็นการเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ
           ในเชิงวัฒนธรรมเด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย ยอมรับในความแตกต่างของผู้คน มีความเข้าใจผู้อื่น
           สิ่งที่มอนเตสซอรี่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การทำประโยชน์ตอบแทนกลับต่อสังคมส่วนรวม เด็กๆ จะได้เรียนรู้ประวัติบุคคลสำคัญของโลกที่ทำประโยชน์ให้สังคม อันเป็นประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงคนรุ่นหลัง เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้คนรุ่นหลังเช่นเดียวกัน
 
           พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ ถ้าในวัยเด็กเป็นไปอย่างไม่สมดุล โดยอาจจะเน้นทางใดทางหนึ่งมากเกินไป เช่น เน้นเรื่องเรียนเก่ง เรื่องวิชาการ ให้มี IQ สูง เราก็อาจจะเห็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ขาดความฉลาดด้านอื่นๆ เช่น
           ถ้าขาดความฉลาดด้านอารมณ์ อาจจะเรียนได้เก่ง แต่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองในบางครั้งได้ เช่น ถ้าสอบไม่ได้ก็จะเครียด บางคนอาจถึงกับทำลายชีวิตตัวเอง
           ถ้าขาดทักษะทางสังคม อาจจะไม่ค่อยมีเพื่อน เข้ากลุ่มกับเพื่อนไม่ค่อยได้
           บางคนอาจจะเก่ง แต่ไม่ใช่คนดีเพราะขาดคุณธรรมจริยธรรม
           หรือเป็นคนเก่ง มีความก้าวหน้าในชีวิตการงาน เป็นคนดี แต่ขาดความฉลาดด้านจิตวิญญาณ ก็อาจจะไม่พบความสุขที่แท้จริงในการใช้ชีวิต เพราะไม่สามารถเข้าใจผู้อื่นหรือไม่เข้าใจความเป็นไปต่างๆ ขาดความยืดหยุ่น ไม่เห็นการเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ หรือไม่มีจุดหมายในชีวิต
           พัฒนาการในทุกด้านๆ ที่กล่าวมานี้ เมื่อได้เริ่มพัฒนาตั้งแต่ในวัยเด็กและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์  มีความฉลาดในทุกด้านๆ อย่างสมดุลกัน  มีชีวิตที่ประสบทั้งความสุขและความสำเร็จได้
 
 
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมอนเตสซอรี่   

-  The Montessori Foundation and The International Montessori Council
    http://www.montessori.org
 
-  Association Montessori Internationale (AMI)
   http://www.montessori-ami.org
 
-  American Montessori Society (AMS)
   http://www.amshq.org

-  สมาคมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กเป็นสำคัญ (Thailand Association of Montessori Schools)
   http://montessori-assothai.org/index.htm


  • IMG_1371.jpg
    1. สิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ 1.1 สิ่งแวดล้อมที่เด็กเป็นศูนย์กลาง • กิจกรรมเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่การสอนของครู • เด็กทำงานคนเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เลือกเอง...

  • IMG_3011.jpg
    แรงจูงใจจากภายในเป็นแรงจูงใจที่เกิดจากภายในตัวเด็กเองในการที่จะทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ให้สำเร็จ เพื่อความพึงพอใจ ความสุขของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีแรงจูงใจจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรางวัล...
Visitors: 34,191